จับตา! ผลงานหุ้นโลจิสติกส์ ที่ยังเติบโตได้แบบไม่สิ้นสุด

www.wealthythai.com (วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564) ถึงคราวที่นักลงทุนหันมาเล่นรอบให้ความสนใจในหุ้นกลุ่มโลจิสติกส์กันอีกครั้งหลังจากที่ประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/64 ก็มีกำไรอย่างโดดเด่นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการโลจิสติกส์ขนาดใหญ่แถวหน้าของไทย ที่เติบโตล้อไปกับการส่งออกและนำเข้าของประเทศที่กำลังเติบโตเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของจีดีพีอยู่ในขณะนี้ หุ้นในกลุ่มโลจิสติกส์ที่ Wealthy Thai หยิบยกมาคุยกันในรอบนี้ได้แก่ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE,บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III และบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวโดดเด่นที่น่าสนใจ ผลตอบแทนเกือบ 200% ไม่ถึงปี หากย้อนไปดูความสามารถของการทำราคาหุ้นในช่วงตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันจะพบว่าแต่ละตัวไม่ธรรมดากันเลย โดยเฉพาะหุ้น WICE ที่ให้ผลตอบแทนนักลงทุนกว่า 187% ขณะที่ III ก็ร้อนแรงไม่แพ้กันราคาขึ้นแรงกว่า 98% แต่ในช่วงกลางปีที่ราคาหุ้นขึ้นไปแตะจุดสูงสุดในรอบปีที่ระดับ 14.60 บาท ส่วน JWD เป็นหุ้นที่ราคาคงเส้นคงวามาโดยตลอดและในช่วงรอบต้นปีจนถึงปัจจุบันราคาหุ้นทำฟอร์มเพิ่มขึ้นได้กว่า 90% ประสิทธิภาพในการทำกำไร ขณะที่ประสิทธิภาพความสามารถในการทำกำไรก็เติบโตไม่น้อยไปกว่าราคาหุ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งผลประกอบการของทั้ง 3 หุ้น หากเทียบกับงวดไตรมาส 3/64 กับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีอัตราการเติบโตในระดับสูง ขณะเดียวกันหากดูที่งวด 9 เดือนแรกของปี 64 ก็เติบโตมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน โดย WICE มีกำไรสุทธิไตรมาส 3/64 อยู่ที่ 162 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 188.75 % จากปีก่อน และงวด 9 เดือนมีกำไรสุทธิ 355 ล้านบาท เพิ่มขึ้น150.67 % ส่วนทาง III มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78.57% และงวด 9 เดือนมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 263 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 130.70% สำหรับ JWD รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/64 ที่ 139ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.9% และส่วน 9 เดือนมีสุทธิอยู่ที่ 395 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป้าหมายแผนงานของผู้บริหาร นายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ WICE เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจไตรมาส 4/64 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ คาดว่าจะสามารถทำผลประกอบการนิวไฮต่อเนื่อง บริษัทมีแผนที่จะขยายธุรกิจโดยเฉพาะบริการขนส่งข้ามแดน (Cross Border Service) ซึ่งในครึ่งปีแรกได้เพิ่มตู้คอนเทนเนอร์เป็น 500 ตู้ เพื่อรองรับการขยายตัวที่มีแนวโน้มปริมาณงานเพิ่มขึ้นจากความนิยมของลูกค้าในช่วงที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะทยอยรับมอบได้ครบถ้วนภายในสิ้นปี 64 ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการขนส่งทางทะเล (Sea Freight) 45% ,งานบริการทางอากาศ (Air Freight) 25%, ขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน (Cross Border Service) 25% , และงานซัพพลายเชน 5% ทางด้าน นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JWD เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจให้บริการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่องในไตรมาสสุดท้าย คาดว่าจะเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่รัฐบาลเดินหน้าเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้น เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว ทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ มีความต้องการใช้บริการขนส่งและจัดเก็บสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับดีมานด์จากผู้บริโภค ดังนั้น จึงคาดว่าปี 64 จะสามารถทำรายได้รวมสูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำไรที่มีโอกาสทำได้มากกว่าคาดการณ์ หลังจากผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกที่ผ่านมามีอัตราเติบโตเป็นที่น่าพอใจ โดยคาดว่าผลการดำเนินงานไตรมาสสุดท้ายจะดีที่สุดในรอบปีนี้ มุมมองนักวิเคราะห์ต่อหุ้น มาดูกันว่านักวิเคราะห์จะมีมุมมองอย่างไรบ้าง เริ่มที่ WICE บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ว่าปกติใน 4Q ผลการดำเนินงานมักจะใกล้เคียง แต่จะมีช่วงวันหยุดใกล้สิ้นปีการขนส่งจะชะลอลง แต่ยังคงได้ประโยชน์จากค่าระวางตู้คอนเทนเนอร์ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งผู้บริหารมองว่าจะไปถึงกลางปี 2565 อีกทั้ง ETLได้เพิ่ม Capacity และบริการอีก คาด 4Q64 จะยังเห็นกำไรโตโดดเด่น y-y ซึ่งในปี 65 ETL จะมีให้บริการขนส่งทางรถไฟเพิ่มและจะเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ ดังนั้นยังแนะนำ “ซื้อ” ปรับราคาพื้นฐานเป็น 17 บาท เพราะกำไร 3Q64 ที่ดีกว่าคาดและ4Q64 ต่อเนื่อง ปรับกำไรปี 64 และปี 65 ขึ้นเป็น 501 ล้านบาท และ 554 ล้านบาท อิง P/E20 เท่า สำหรับ III ภายใต้มุมมองของบริษัท หลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด มีมุมมองว่า จากการประชุมกับผู้บริหารหลังจากที่ผลประกอบการ 3Q21 ดีกว่าเราและตลาดคาด ทำให้เราปรับประมาณการปี 64 ขึ้นทั้งรายได้และกำไรสุทธิ และคาดว่า Q4 จะมีการดำเนินงานที่ดีขึ้นต่อ (ไม่รวมกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนจากการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจตัวแทนขายระวางทางอากาศ (GSA) อยู่ภายใต้บริษัท ANI อยู่ที่ 24.8 ล้านบาทใน 3Q21) มีแผนการนำ ANI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการมุ่งเน้นเพิ่มการขนส่งสินค้าทางรางรถไฟในปี 65 จากการเพิ่มขึ้นของความต้องการการขนส่งโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายๆ รูปแบบ ทำให้ธุรกิจการขนส่งทางอากาศภายใต้บริษัท ANI มีการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่อง โดยเราคาดว่าในปีหน้าการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศจะช่วยเสริมธุรกิจในกลุ่มดังกล่าว กอปรกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของการให้บริการภาคพื้นดินและคลังสินค้าที่ท่าอากาศยานหลักๆ ในประเทศ (ground handgling and warehouse) นอกจากนี้ เช่นเดียวกับคู่แข่งหลักๆ ในตลาดฯ III มองว่าการขนส่งทางรางรถไฟ (railyard logistics) จะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น โดยบริษัทจะมีการให้บริการขนส่งทางรางรถไฟเส้นทาง ไทย – ลาว – จีน เนื่องจากธุรกิจ e-commerce มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง และมีการคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจการขนส่งทางรางจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายใน 3 ปีจากนี้ ปรับรายได้ปี 64-65 ขึ้น 7% - 5% และอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 18.5% เป็น 20% โดยรวมแล้วเราคาดผลประกอบการปี 64-65 จะเพิ่มขึ้นราว 14 – 16% ทั้งนี้ ยังไม่ได้รวมประมาณการจากการขนส่งทางรางเข้าไป แนะนำให้ “ซื้อ” โดยมีมูลค่าที่เหมาะสมใหม่อยู่ที่ 15.50 บาท (จาก 13.30 บาท) อิง PER ที่ 27.2 เท่าสำหรับปี 65 ปิดท้ายที่ JWD บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินว่า แนวโน้ม 4Q64 มีโอกาสสูงที่จะทำระดับสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง เพราะ 1) บริษัทยังคงเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นในทุกธุรกิจ 2) High season ของธุรกิจอาหารในไต้หวัน 3) ธุรกิจยานยนต์ฟื้นตัวตามอุตสาหกรรม 4) High season ของ TMS และการคลาย Lockdown ของเวียดนามหนุนธุรกิจของ TMS และ 5) การรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก ESCO ครั้งแรกจำนวน 2 เดือน (พ.ย. - ธ.ค.) คาดกำไรเบื้องต้นที่ 150 ล้านบาท ทั้งนี้ ปรับประมาณการกำไรปี 65 - 66 ขึ้น 3% และ 6% จากการปรับส่วนแบ่งกำไรจาก ESCO ขึ้นจาก 60 ล้านบาท เป็น 80 ล้านบาท และ 104 ล้านบาท ในปี 65 – 66 ตามลำดับ เพื่อสะท้อนการเติบโตของอุตสาหกรรม และการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนจาก 15% เป็น 20% ใน 2Q65 อย่างไรก็ตามยังไม่รวมธุรกิจที่ลงทุนในปี 64 ซึ่งจะเริ่มมีนัยสำคัญในปี 65 ได้แก่ 1) JV ในบริษัท Alpha industrial solution ถือในสัดส่วน 50:50 ร่วมกับ ORI ในการสร้างคลังสินค้าขนาดรวม 1 ล้านตร.ม. ภายในปี 68 คาดว่าจะสามารถขายเข้ากอง REIT ด้วยมูลค่าสูงถึง 12,000 ล้านบท โดยมีเป้าหมายในปี65 ที่180,000 ตร.ม. โครงการแรกจะเป็นคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิขนาด 20,000 ตร.ม. ที่บางนา กม. 22 ใช้เงินลงทุน 550 ล้านบาท ทำให้ตลอดทั้งปี 2565 จะมีคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิแห่งใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกไตรมาส 2) Fuze post ธุรกิจที่ JV ร่วมกับไปรษณีย์ไทย และ Flash ให้บริการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิระดับ C2C และ e-Commerce คาดหวังรายได้ไม่น้อยกว่าที่ทำเองอยู่ปัจจุบันที่ 100 ล้านบาท โดยอาจสูงถึง 400 ล้านบาทในปีแรก และคาดว่ารายได้ของ JV อาจแตะระดับ 2,000 ล้านบาท ได้ภายใน 3ปี โดยJWD จะถือในสัดส่วนราว 30% คาดเริ่มมีรายได้ใน 2Q65   https://www.wealthythai.com/en/updates/stock/stock-of-the-day/6020
Read more...

III โชว์ผลงาน Q3/64 ทุบสถิติกำไรทะลุ 100 ล้านบาท มั่นใจสิ้นปีโตกว่าสองเท่า ผุด Business Development Unit จับอีคอมเมิร์ซ-นิวนอร์มอล และเตรียมขยายธุรกิจตัวแทนสายการบิน หนุนโตต่อเนื่องหลังโควิดคลี่คลาย

บมจ. ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ หรือ III  โชว์ผลประกอบการ Q3/64 ฝ่าวิกฤติโควิดสร้างกำไรต่อเนื่องทะลุ 100 ล้านบาท เชื่อมั่นผลดำเนินงานสิ้นปีนี้ทุบสถิติ All Time High เติบโตมากกว่า 2 เท่า จับเทรนด์นิวนอร์มอลจากสถานการณ์โควิด แตกกลุ่มธุรกิจ Business Development Unit ปั้นแหล่งรายได้ใหม่ เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัล ตอกย้ำการเป็นผู้นำโลจิสติกส์ครบวงจรบมจ. ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ หรือ III  โชว์ผลประกอบการ Q3/64 ฝ่าวิกฤติโควิดสร้างกำไรต่อเนื่องทะลุ 100 ล้านบาท เชื่อมั่นผลดำเนินงานสิ้นปีนี้ทุบสถิติ All Time High เติบโตมากกว่า 2 เท่า จับเทรนด์นิวนอร์มอลจากสถานการณ์โควิด แตกกลุ่มธุรกิจ Business Development Unit ปั้นแหล่งรายได้ใหม่ เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัล ตอกย้ำการเป็นผู้นำโลจิสติกส์ครบวงจร นายทิพย์ ดาลาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III ผู้นำด้านโลจิสติกส์ครบวงจรของไทยเปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/2564 ยังสามารถเติบโตต่อเนื่องแม้สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมทั้งของประเทศไทยและทั่วโลกจะยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19  โดยบริษัทฯ มีกำไรสุทธิไตรมาสล่าสุดนี้จำนวน 100.2 ล้านบาท เติบโตกว่าร้อยละ 75.9 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และเติบโตร้อยละ 16.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากความสำเร็จดังกล่าว มีปัจจัยสำคัญมาจากความสามารถของบริษัทฯ ในการบริหารธุรกิจท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่ และมาตรการ Lockdown ในประเทศ โดยได้ปรับยุทธศาสตร์ให้บริษัทฯ เป็น Operating Holding เต็มรูปแบบ ตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้บริษัทฯ มีผลประกอบการหลักมาจาก 2 ส่วนคือ จาก 4 กลุ่มธุรกิจหลักในปัจจุบัน และจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ยังสร้างผลตอบแทนได้เป็นอย่างดี “เรามั่นใจว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 จะยังคงรักษาความสามารถในการสร้างผลกำไรที่ดีได้อย่างต่อเนื่องจากทุกกลุ่มธุรกิจ และยังเดินหน้าพัฒนาธุรกิจใหม่ในทุกรูปแบบ จึงเชื่อว่าผลการดำเนินงานในปีนี้จะสามารถเติบโตได้เป็นสองเท่าของปี 2563” นายทิพย์กล่าว บริษัทฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการเติบโตอย่างยั่งยืน สู่การเป็นผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ชั้นนำในระดับภูมิภาคผ่านโมเดลธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งการขยายธุรกิจเพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่และเป็นการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ พร้อมทั้งขยายฐานลูกค้าจากกลุ่มภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม ไปสู่กลุ่มคอนซูเมอร์ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการปลายทาง สร้างมิติใหม่ในธุรกิจด้านโลจิสติกส์ ล่าสุด บริษัทฯ ได้แตกกลุ่มธุรกิจใหม่ภายใต้ชื่อ Business Development Unit (BU5) เพิ่มเติมจาก 4 กลุ่มธุรกิจหลักที่มีอยู่เดิมเพื่อรองรับเทรนด์ของตลาดที่เปลี่ยนไป ทั้งในด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค และบทบาทของเทคโนโลยีที่จะสามารถเข้ามาสนับสนุนธุรกิจมากขึ้น โดยโมเดลธุรกิจจะครอบคลุมทั้งการพัฒนาบริการใหม่ๆ การควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (M&A) และการร่วมลงทุน โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2566 จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างสัดส่วนผลประกอบการให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของผลประกอบการรวมของบริษัทฯ ซึ่งจะเป็นแหล่งรายได้ในระยะยาว นายทิพย์ กล่าวว่า การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ รวมถึงกระแสของ Business Disruption เป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนในการตัดสินใจตั้ง BU5 ขึ้นมา ซึ่ง BU5 จะมีความคล่องตัวมากกว่าการดำเนินงานภายใต้โครงสร้างเดิม เพื่อรองรับการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ที่จะสร้างความโดดเด่นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับกลุ่มทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ รวมทั้งคู่ค้าและลูกค้า สำหรับ BU5 วางแนวคิดการสร้างการเติบโตภายใต้คอนเซ็ปต์ “Logistics and Beyond” BU 5 ทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อน ธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยกลยุทธ์ในการขยายขอบเขตการให้บริการต่อยอดบริการเดิมที่มีอยู่ รวมไปถึงพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์โมเดลใหม่ที่แตกต่างไปจากธุรกิจรูปแบบเดิม ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงการภายใต้ BU5 ดังนี้ 1. การพัฒนาสู่การเป็นผู้นำด้านการเป็นตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบินในระดับภูมิภาค เพื่อขยายจากพื้นที่เดิมซึ่งในปัจจุบันเป็นตัวแทนให้แก่สายการบินทั่วภูมิภาคกว่า 20 สายการบิน และปี 2565 จะเห็นการเติบโตอีกมาก โดยตั้งเป้าการเป็นเบอร์ 1 ของตลาดนี้ ซึ่งจากการที่บริษัทฯ ได้ปรับโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ANI) แล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2564 ต่อจากนี้ บริษัทฯ จะดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนใน ANI เพิ่มเติม เป็นเงินลงทุนกว่า 300 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการเข้าซื้อกิจการกลุ่มบริษัท เอเชีย จีเอสเอ (เอ็ม) เซินดิเรียน เบอร์ฮัด (ASIA GSA (M) Sdn. Bhd. ในสัดส่วน 20% คิดเป็นมูลค่ากว่า 732 ล้านบาท โดยจะรวมศูนย์กลางสำนักงานใหญ่ไว้ที่ประเทศไทย และกระจายจัดตั้งสำนักงานสาขาในอีกกว่า 10 เมืองของภูมิภาคนี้ อาทิ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา โดยมุ่งเน้นเมืองที่เป็นฮับของสายการบิน เป็นเส้นทางการบินหลัก และเป็นฐานการกระจายสินค้าในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะนำ ANI เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน Asia GSA (M) ในอนาคต “การปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจขายระวางสินค้าสายการบินในครั้งนี้ เป็นการประสานร่วมกันระหว่างบริษัทฯ กับพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่งทำให้ขยายขีดความสามารถในการแข่งขันการเป็นตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบิน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่มีอุปสงค์ในการขนส่งสินค้าทางอากาศสูง เมื่อเทียบกับอุปทานที่ยังไม่สามารถตอบสนองได้จากสถานการณ์การบินในปัจจุบัน” นายทิพย์กล่าว 2. การพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ภายในประเทศสำหรับกลุ่มลูกค้าอี-คอมเมิร์ซ เพื่อรองรับการเติบโตทั้งแบบ B2B, B2C และการให้บริการคลังสินค้า (Fulfillment) วางเป้าหมายขยายจากฐานลูกค้ากลุ่ม B2B ไปในกลุ่ม B2C โดยจะมีการลงทุนผ่านสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็น Delivery Logistics ซึ่งเติบโตตามธุรกิจจัดส่งสินค้าและอีคอมเมิร์ซ นอกจากนี้ เตรียมต่อยอดจากการเข้าไปลงทุนใน ShipSmile ผู้นำอันดับหนึ่งในธุรกิจขายแฟรนไชส์ให้ผู้ประกอบการในการขนส่งพัสดุ และเป็นจุดรวบรวมการขนส่งพัสดุภายในประเทศจากบริษัทขนส่งชั้นนำ และสามารถสร้างผลกำไรที่น่าพอใจในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสาขาจากกว่า 4,000 สาขา เป็น 10,000 สาขาภายในปีหน้า พร้อมเพิ่มความหลากหลายของบริการ ได้แก่ เคาน์เตอร์เซอร์วิส รับจองตั๋ว รับชำระค่าบริการ เป็นต้น โดยวางตำแหน่งของ ShipSmile เป็น Express Shop ที่เป็นมิตรกับผู้ประกอบการขนส่งพัสดุทุกราย ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบอัตราค่าบริการ โปรโมชั่น และตารางเวลาจัดส่ง เป็นทั้งจุดรับและส่งสินค้าให้กับผู้ใช้บริการ โดยเป็นการผสานทั้งช่องทางแบบออฟไลน์และออนไลน์ เพิ่มตัวเลือกให้กับทั้งลูกค้าและคู่ค้าของ ShipSmile 3. การพัฒนาบริการขนส่งสินค้าในระบบราง ทางบริษัทฯ ได้ศึกษาโอกาสในการพัฒนาการขนส่งสินค้าด้วยระบบรางมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมขยายเส้นทางการขนส่งข้ามแดนระหว่างประเทศ เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าลาว-จีน (BRI) ซึ่งอาศัยความได้เปรียบทางภูมิศาตร์ของประเทศไทยในการเป็นฮับระดับภูมิภาค และเป็นศูนย์กระจายสินค้าในอาเซียน  บริษัทฯ ตั้งเป้าเริ่มให้บริการได้ภายในไตรมาสแรกปี 2565 โดยเพิ่มระยะทางขนส่งทางรางครอบคลุมตั้งแต่มาเลเซีย กรุงเทพ แหลมฉบัง ลาว จีนตอนใต้และตะวันตก สำหรับบริการขนส่งสินค้าในระบบรางภายในประเทศจะพร้อมให้บริการภายในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจะมีเส้นทางการให้บริการจากภาคใต้มายังภาคกลาง และจากภาคตะวันออกมายังภาคกลาง พร้อมให้บริการขนส่งทางบกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จากสถานีรถไฟไปยังจุดหมายที่ลูกค้าต้องการ 4. การพัฒนา E-Logistics Platform เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ โดยจะขยายสู่การให้บริการแบบครบวงจรให้แก่ลูกค้าทั้งกลุ่มผู้นำเข้าสินค้าและผู้ขายสินค้าออนไลน์ ตั้งแต่การให้บริการคลังสินค้าที่มีอยู่แล้ว ไปจนถึงบริการด้าน Digital Marketing Agency โดยผนึกกับพันธมิตรที่ชำนาญด้านการตลาดดิจิทัล นำเสนอเป็นโซลูชั่นวางแผนการตลาดที่เจาะได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มโอกาสให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์สามารถขยายช่องทางเติบโตของยอดขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งมาร์เก็ตเพลส และโซเชียล มาร์เก็ตติ้ง และ 5. บริการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิให้กับสินค้ากลุ่มอาหาร ยาและเวชภัณฑ์ เป็นการต่อยอดความชำนาญและจุดแข็งในธุรกิจบริการจัดส่งสินค้าและโลจิสติกส์ของบริษัทฯ ไปสู่ตลาดที่มีศักยภาพเติบโตสูง คือการจัดส่งด้วยการควบคุมอุณหภูมิ สำหรับสินค้าอาหารและยา/เวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นโอกาสแหล่งรายได้ใหม่ที่บริษัทฯ สนใจทำอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมามีการเปิดสำนักงานที่ประเทศสิงคโปร์ โฟกัสกลุ่มขนส่งวัคซีนและยาที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิตลอดการขนส่งและจัดเก็บ “จากการผสานศักยภาพกลุ่มธุรกิจหลักที่มีอยู่เดิม และการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ภายใต้ BU5 จะนำมาซึ่งยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนองค์กรในรูปแบบใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล ส่งเสริมขีดความสามารถของธุรกิจให้เติบโตตามวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับทั้งกลุ่มทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ คู่ค้า และลูกค้า อีกทั้งการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย” นายทิพย์กล่าว
Read more...